เปิดขุมทรัพย์หมื่นล้าน ตลาด “โฮ่งเหมียว”
“เสื้อผ้าและเครื่องประดับสำหรับสัตว์เลี้ยง อาจมีอยู่แล้วหลายเจ้า แต่แท้ที่จริงแล้ว ยังขาดการสร้างแบรนด์อย่างจริงจัง อีกทั้งสินค้ากลุ่มดังกล่าว สำหรับตลาดพรีเมี่ยม หรือซุปเปอร์พรีเมี่ยม ก็ยังหายาก ทั้งที่แบรนด์ต่างชาติ อย่าง หลุยส์ วิตตอง หรือ กุชชี่ นั้น ปัจจุบันมีสินค้าสำหรับสุนัขแล้ว”
ในการสัมมนาวิชาการด้านการตลาด ปีที่ 9 จัดขึ้นโดย นักศึกษาระดับปริญญาโทภาคพิเศษ ร่วมกับวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หัวข้อ “4 ขา Marketing เปิดขุมทรัพย์หมื่นล้าน ตลาดโฮ่งเหมียว” เมื่อไม่นานมานี้
มีข้อมูลจากงานวิจัยน่าสนใจ ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการน้อยใหญ่ ทั้งรายเก่าหรือ “มือใหม่” ที่กำลังมองหาโอกาสและช่องทางเข้าสู่ธุรกิจมูลค่า…มหาศาล!
สองปีตลาดเพิ่ม
ห้าพันล้านบาท
ส่วนหนึ่งของการสัมมนาหัวข้อดังกล่าว ระบุจากการศึกษาแนวโน้มการเติบโตทั่วโลก พบว่า ตลาดธุรกิจสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะสุนัขและแมว ยังเติบโตได้อีก แม้จะเกิดวิกฤตการณ์ด้านเศรษฐกิจในหลายประเทศ แต่ตลาดสัตว์เลี้ยงกลับสวนกระแส และมีการเข้ามาลงทุนมากขึ้น
โดยมูลค่าการเติบโตของสินค้าและบริการตลาดสัตว์เลี้ยงในประเทศไทย มีอัตราการเจริญเติบโต 3-30 เปอร์เซ็นต์ โดยในช่วงปี 2538-2553 เติบโตคิดเป็นมูลค่า 5,000 ล้านบาท แต่ในปี 2553-2555 มีมูลค่าการเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 5,000 ล้านบาท โดยใช้เวลาเพียงแค่ 2 ปี
และยังคงคาดการณ์ต่อว่า ตลาดสัตว์เลี้ยงจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งพฤติกรรมของคนเลี้ยงก็เปลี่ยนไป มีการใส่ใจเรื่องสุขอนามัยและจิตใจของสัตว์เลี้ยงมากขึ้น จึงเป็นตลาดที่น่าเข้ามาจับจองอย่างยิ่ง
มีข้อมูลจากสมาคมผู้ค้าเวชภัณฑ์สัตว์ในประเทศไทย ระบุ ประเทศไทยมีแมวและสุนัขรวมกันประมาณ 9 ล้านตัว คิดเป็นสัดส่วน สุนัข 65 เปอร์เซ็นต์ แมว 19 เปอร์เซ็นต์ และสัตว์เลี้ยงอื่นๆ 16 เปอร์เซ็นต์
ส่วนมูลค่าตลาดประเภทสินค้า มีมูลค่า 10,500 ล้านบาท ประกอบด้วย อาหาร ขนม เสื้อผ้า และของเล่น และมูลค่าตลาดประเภทบริการ มีมูลค่า 10,000 ล้านบาท โดยธุรกิจประเภทบริการประกอบด้วย โรงพยาบาล/คลินิก สปา อาบน้ำตัดขน โรงเรียนฝึก โรงแรม บริการฌาปนกิจ และบริการอื่นๆ ตามลำดับ
งานวิจัยของนักศึกษาปริญญาโทภาคพิเศษ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หัวข้อ “4 ขา Marketing เปิดขุมทรัพย์หมื่นล้าน ตลาดโฮ่งเหมียว” ครั้งนี้ มีการจัดเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เจาะลึก ผู้เลี้ยง 20 ราย สัมภาษณ์เชิงลึกผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง 8 ธุรกิจ สัมภาษณ์แบบกลุ่ม และสัมภาษณ์ผ่านแบบสอบถามอีก 400 ชุด
พบข้อมูลน่าสนใจหลายประเด็น อาทิ พันธุ์สุนัขที่เลี้ยงส่วนใหญ่เป็นสุนัขพันธุ์เล็ก แบ่งเป็น พุดเดิ้ล 20.1 เปอร์เซ็นต์ ชิสุ 17.3 เปอร์เซ็นต์ และชิวาวา 10.4 เปอร์เซ็นต์ ส่วนแมวที่เลี้ยง พันธุ์ไทย 63.3 เปอร์เซ็นต์ พันธุ์ผสม 31.3 เปอร์เซ็นต์
ชี้ช่องธุรกิจ
สร้างความต่าง
และจากการสัมภาษณ์แบบกลุ่ม พบผู้เลี้ยงส่วนใหญ่ใช้จ่ายเงินให้กับสัตว์เลี้ยง มากกว่า 1,000 บาท/ตัว/เดือน ซึ่งคิดเป็น 5-10 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้ โดยลำดับค่าใช้จ่ายสูงสุด ไล่เรียงตามสัดส่วนดังนี้ คือ 1. อาหาร 2. ค่ารักษาพยาบาล 3. ค่าอาหารเสริมและวิตามิน 4. ค่าเสื้อผ้า/อุปกรณ์ตกแต่ง 5. ค่าบริการอาบน้ำ-ตัดขน 6. บริการอื่นๆ เช่น โรงแรม สปา
ลงลึกไปในรายละเอียดของงานวิจัย เรื่องค่าใช้จ่าย ผู้เลี้ยงส่วนใหญ่ระบุ ยอมจ่ายค่าเสื้อผ้าเครื่องประดับ เป็นลำดับ 4 นั้น เนื่องจาก อยากให้สัตว์เลี้ยงของพวกเขาดูดีมีระดับ ส่วนแหล่งหาซื้อเสื้อผ้าและเครื่องประดับให้กับสัตว์เลี้ยงนั้น มักเป็น Pet Shop หรือไม่ก็ห้างค้าปลีก
จากข้อมูลในประเด็นนี้อาจเป็นการชี้ให้เห็นโอกาสในทางธุรกิจ เนื่องจากปัจจุบัน จำนวนร้านเสื้อผ้าและเครื่องประดับ ที่สามารถสร้างชื่อให้แบรนด์ตัวเองแข็งแกร่งนั้น ยังมีไม่มากนัก
“เสื้อผ้าและเครื่องประดับสำหรับสัตว์เลี้ยง อาจมีอยู่แล้วหลายเจ้า แต่แท้ที่จริงแล้ว ยังขาดการสร้างแบรนด์อย่างจริงจัง อีกทั้งสินค้ากลุ่มดังกล่าว สำหรับตลาดพรีเมี่ยม หรือซุปเปอร์พรีเมี่ยม ก็ยังหายาก ทั้งที่แบรนด์ต่างชาติ อย่าง หลุยส์ วิตตอง หรือ กุชชี่ นั้น ปัจจุบันมีสินค้าสำหรับสุนัขแล้ว” ส่วนหนึ่งของงานวิจัย ระบุ
ก่อนมีข้อเสนอแนะต่อว่า ความต้องการซื้อสินค้าเสื้อผ้า/เครื่องประดับ ของคนมีสัตว์เลี้ยง อาจเป็นโอกาสดีของผู้ทำธุรกิจด้านนี้ เพราะคนไทยมีฝีมือและเป็นที่ยอมรับของต่างชาติ ที่ผ่านมา มีการผลิตสินค้าเสื้อผ้าสัตว์เลี้ยง มียอดส่งออกสูง แต่สิ่งที่ต้องคิดเป็นการบ้านต่อ คือ ทำอย่างไรให้สินค้ามีความแตกต่างและโดดเด่นกว่าที่มีอยู่ในท้องตลาด
ในงานวิจัยยังพบข้อมูลอีกว่า ผู้บริโภคที่มีความชื่นชอบการเลี้ยงสัตว์ ยังมีพฤติกรรมที่มีความต้องการในส่วนของการบริการเฉพาะทาง เช่น โรงแรม-ที่พัก อนุญาตให้พาสัตว์เลี้ยงเข้าพักได้ บริการอาบน้ำตัดขนเคลื่อนที่ เป็นต้น ซึ่งการบริการในลักษณะข้างต้น ยังมีโอกาสเติบโตได้เป็นอย่างดี เพราะยังมีผู้ให้บริการน้อยราย
“พฤติกรรมความต้องการของผู้บริโภคมีแนวโน้มชอบความสะดวกสบายทั้งต่อตัวเองและสัตว์เลี้ยง การมีกิจกรรมร่วมกันกับสัตว์เลี้ยง รวมถึงกระแสความนิยมตามๆ กันในกลุ่มผู้เลี้ยง สิ่งเหล่านี้สามารถเป็นลู่ทางให้ผู้ประกอบการสรรหาสินค้าและบริการในด้านต่างๆ เพื่อตอบโจทย์และสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างครอบคลุม” งานวิจัย 4 ขา Marketing ฯ ระบุ
“DOGCAT”
เคล็ดลับ สำเร็จ-ยั่งยืน-ไม่เอาต์
D Doctor-สัตวแพทย์ยังคงมีอิทธิพลสูงต่อการเติบโตของสินค้าและบริการต่างๆ ในตลาดสุนัขและแมว เนื่องจากในทุกช่วงชีวิตของสุนัขและแมวจะต้องมีการไปพบสัตวแพทย์อย่างต่อเนื่องอยู่ตลอด รวมทั้งผู้เลี้ยงยังคงให้ความเชื่อถือข้อมูลจากสัตวแพทย์เป็นอันดับหนึ่ง หากสินค้าและบริการใดๆ ก็ตามที่ต้องการความน่าเชื่อถือหรือต้องการจะเข้าในตลาดสัตว์เลี้ยง หากสามารถเข้าในตลาดสัตวแพทย์หรือได้รับการยอมรับจากสัตวแพทย์แล้วก็จัดได้ว่าประสบความสำเร็จไปแล้ว 1 ขั้น
Delivery-มีการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าของสินค้าและบริการด้วยการบริการถึงที่บ้าน เนื่องจากผู้บริโภคในปัจจุบันต่างมีเวลาที่รัดตัวและชีวิตที่เร่งรีบทำให้ต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น และหากเลี้ยงพันธุ์ใหญ่ การขนย้ายทำได้ค่อนข้างจะลำบาก ดังนั้น หากบริการต่างๆ สามารถเพิ่มการบริการถึงบ้านได้ก็จะช่วยให้เป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ของผู้เลี้ยงในยุคนี้ได้
O Online-ในยุคปัจจุบันเว็บไซต์และโซเชียลเน็ตเวิร์กถือเป็นปัจจัยสำคัญในการทำตลาดและช่วยให้เกิดการสื่อสารระหว่างผู้บริโภคและเจ้าของผลิตภัณฑ์ได้ ทั้งยังเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจที่ลงทุนน้อยกว่าการสื่อสารการตลาดในช่องทางอื่น นอกจากนี้ ร้านค้าออนไลน์ถือเป็นหน้าร้านที่นับวันก็จะยิ่งเพิ่มจำนวน และได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากขึ้น
G Group-การได้รับการนิยมของโลกออนไลน์ได้สร้างชุมชนแห่งใหม่ของคนรักสุนัขและแมวเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน นอกเหนือไปจากการรวมกลุ่มกันเป็นชมรม หรือมูลนิธิต่างๆ เนื่องจากผู้เลี้ยงมักมีการรวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ นอกจากนี้ ผู้เลี้ยงยังมีการนัดกันทำกิจกรรมพิเศษเฉพาะกลุ่มอยู่เรื่อยๆ
C Care-ผู้ประกอบการต้องมีความใส่ใจ เอาใจใส่ ดูแล และสนใจจดจำรายละเอียด มีความเข้าใจในจิตใจสัตว์เลี้ยง และผู้เป็นเจ้าของเป็นอย่างดี โดยคำนึงถึงในด้านของความรู้สึกเป็นสำคัญ นอกจากตัวผู้ประกอบการเองแล้วตัวพนักงานก็ต้องมีความเอาใจใส่ไม่แพ้กัน ซึ่งหากผู้ประกอบการมีการคัดเลือกบุคลากรที่ดี เลือกคนที่เลี้ยงสัตว์ รักสัตว์เข้ามาทำงาน และมีการฝึกอบรมพนักงานที่ดีและเป็นระบบก็จะทำให้กิจการหรือธุรกิจที่ทำมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่เกี่ยวกับการบริการด้วยแล้ว พนักงานถือเป็นหัวใจสำคัญในธุรกิจเลยทีเดียว
A Amplify-นอกจากที่จะสร้างธุรกิจให้เป็นธุรกิจหรือสร้างร้านให้เป็นร้านขึ้นมาได้แล้ว การประชาสัมพันธ์ การสื่อสารการตลาดไปถึงผู้เลี้ยงก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน จะเห็นได้ว่าจริงๆ แล้ว บริการหลายอย่างที่ผู้เลี้ยงระบุว่าต้องการให้มีในประเทศไทยนั้น หลายๆ บริการเป็นบริการที่มีอยู่แล้วในประเทศไทยและมีหลายแห่งด้วยซ้ำ นั่นหมายถึงว่า คนไม่ทราบว่ามีร้านที่ให้บริการแบบนี้อยู่ ดังนั้น การทำการสื่อสารการตลาดไปถึงกลุ่มผู้บริโภคนั้นในแง่ของการตลาดแล้วถือว่าเป็นปัจจัยหลักปัจจัยหนึ่งเลยทีเดียวที่จะช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ
T Trust-การจะทำธุรกิจใดๆ ก็ตามนั้นต้องมีความน่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับและทำให้กลุ่มเป้าหมายเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าและการบริการ ให้ได้มากที่สุด แต่การที่จะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือได้นั้นสินค้าหรือบริการนั้นๆ จะต้องเกิดจากผู้บริโภคมีประสบการณ์ที่ดีต่อสินค้าและบริการนั้นๆ มาเป็นระยะเวลาหนึ่งอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ไม่ใช่เพียงครั้งหรือสองครั้งของการใช้สินค้าและบริการ ซึ่งสิ่งนี้หากผู้ประกอบการสามารถทำให้เกิดได้ก็จะทำให้กิจการประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน และหากลูกค้ามีความเชื่อมั่นและเชื่อถือในสินค้าและบริการของเราแล้ว ต่อไป ความน่าเชื่อถือ (Trust) จะถูกยกระดับให้กลายเป็น ความภักดี (Loyalty) ต่อสินค้าหรือบริการนั้นๆ
(ข้อเสนอแนะจากงานวิจัย “4 ขา Marketing เปิดขุมทรัพย์หมื่นล้าน ตลาดโฮ่งเหมียว”)
เนื้อหานำมาจาก : นิตยสารเส้นทางเศรษฐี มติชน ฉบับที่ 308 1กย.2555